Bunny-Man Batik

ผ้าบาติกรูปแรกของบันนี่แมน ธ.ค. พ.ศ.2554
บันนี่แมนได้มีโอกาสแวะไปภูเก็ตเมื่อปลายปีที่แล้ว (พ.ศ. 2554)
มีงานทีราชภัฎภูเก็ต มีอาหารมากมาย ประกวดต้นไม้ งานโชว์ภาพบาติก
มีผ้าบาติกให้ทดลองวาดกันด้วย บันนี่แมนเลยได้ละเลงมาหนึ่งภาพ
^^' แหะ แหะ แหะ


เกร็ดความรู้เรื่องผ้าบาติก
ที่มาจาก http://www.thaitextile.org/dataarticle/tactic.htm 

ผ้าบาติก เป็นคำที่ใช้เรียกผ้าชนิดหนึ่งที่มีวิธีการทำลวดลายผ้าโดยการใช้เทียนปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้สีติด และระบายสีในส่วนที่ต้องการให้สีติด "บาติก" หรือ "ปาเต๊ะ" เป็นคำในภาษาชวามาจากคำว่า "ติติ๊ก"หรือ "ติก"มีความหมายว่า เล็กน้อยหรือจุดเล็กๆ โดยใช้การหลอมเหลวของแว๊ก (WAX) หยดหรือเขียนที่เรียกว่า "การเขียนน้ำเทียน" เป็นกรรมวิธีที่จะระบายเทียนที่หลอมเหลวให้เข้าไปในเนื้อผ้า จากนั้นนำไปย้อมตามขบวนการการทำสีผ้าบาติก คือ ย้อมในส่วนที่ไม่ปิดแว๊กให้ติดสีย้อมคือแต้มหรือระบายลงไปในส่วนที่ต้องการให้สีติด เมื่อเสร็จกรรมวิธีแล้วจึงลอกเทียนออกด้วยการนำไปต้มในน้ำเดือด ดังนั้น "บาติก" จึงเป็นการตกแต่งผ้าวิธีหนึ่งที่ทำกันมากในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมถึงประเทศไท ยซึ่งมีการนำเสนอลวดลายผ้าที่ออกมาจากความคิดจินตนาการของผู้ทำรวมทั้งเทคนิคในการทำที่แตกต่างกันของกลุ่มชนในแต่ละประเทศที่เป็นเอกลักษณ์แสดงถึง อารยธรรม และวัฒนธรรมที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในสถานที่นั้น ๆ

บาติกเป็นงานฝีมือที่มีประวัติความเป็นมาที่เก่าแก่ประมาณ 2,000 กว่าปีมาแล้วส่วนแหล่งกำเนิดมาจากไหนยังไม่เป็นข้อยุติ นักวิชาการชาวยุโรปหลายคนเชื่อว่ามีในอินเดียก่อน แล้วจึงแพร่เข้าไปในอินโดนีเซีย และอีกหลายคนเชื่อว่ามาจากอียิปต์หรือเปอร์เซีย มีการค้นพบผ้าบาติกที่อียิปต์ อินเดีย และญี่ปุ่น แต่ส่วนใหญ่ก็ยังยืนแน่ชัดว่า ศัพท์เฉพาะ ขั้นตอน สี รวมทั้ง ขี้ผึ้งที่ใช้เขียนลาย เป็นของอินโดนีเซีย ไม่เคยมีในประเทศอินเดียมาก่อน ถึงจะมีการค้นพบผ้าบาติกในที่ต่างกันแต่ผ้าบาติกของอินโดนีเซียน่าจะเกิดจากประเทศอินโดนีเซียเอง เพราะซึ่งมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนของชาติอื่น ๆ และยังมีผู้ยืนยันระบุอีกว่า การทำผ้าโสร่งบาติกมีต้นกำเนิดมาจากอินโดนีเซียแน่นอน (นันทา, 2536) 

จากการศึกษาประวัติความเป็นมาของผ้าบาติกจึงสามารถสรุปได้ว่า ผ้าบาติกมีแหล่งกำเนิดที่ระบุไม่แน่ชัดแต่พบมากในประเทศอินโดนีเซีย โดยเริ่มมาจากการทำผ้าบาติกของสตรีในวัง แล้วแพร่หลายไปสู่ประชาชนทั่วไป จากนั้นได้มีการพัฒนาเทคนิคการสืบต่อกันมาจนกระทั่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ถ้าเป็นบาติกที่เขียนด้วยมือถือว่าเป็นบาติกชั้นสูง มีราคาแพง จึงทำให้เกิดการเลียนแบบผ้าบาติกด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ สามารถทำให้เกิดเทคนิคในการทำลวดลายให้ดูคล้ายกับผ้าบาติก แต่จริง ๆ แล้วเป็นการพิมพ์แบบสกรีนและไม่เป็นที่นิยมเท่ากับผ้าบาติก ส่วนการทำผ้าบาติกของไทยนั้น นิยมทำกันเป็นงานฝีมือ หรือที่เรียกว่า บาติกเพ้นท์ที่เขียนด้วยมือ ซึ่งมีเอกลักษณ์แตกต่างกับศิลปะบาติกของชาติอื่น

วัสดุและอุปกรณ์

อุปกรณ์ในการเขียนเทียน เรียกว่า "ชันติ้ง" (Tjanting)
ขี้ผึ้ง เทียนไข ผสมในอัตราส่วนที่ต้องการ เช่น อัตาส่วนขี้ผึ้งต่อพาราฟิน 1:2 ต้องการให้เทียนมีความเหนียว , 1:8 ต้องการให้เทียนเกิดรอยแตก (Crack) ง่าย เป็นต้น
ผ้าที่ใช้ เช่น ผ้ามัสลิน ผ้าไหม เป็นต้น
กรอบไม้สำหรับขึงผ้า
ภาชนะใส่น้ำเทียน
เตาไฟฟ้า
กรรไกรตัดผ้า
แก้วผสมสี และภาชนะใส่น้ำสี
น้ำร้อน-น้ำเย็น ใช้สำกรับผสมสี
เตารีด
ภู่กัน ใช้เบอร์ 6, 8, 12 ปลายเหลม หรือปลายตัดขึ้นอยู่กับความต้องการใช้
สีที่ใช้แต้ม หรือ ย้อม เช่น สีรีแอคทีฟ สีวัต เป็นต้น
สารเคมีที่ใช้ในการย้อม เช่น โซดาแอส โซเดียมคาร์บอเนต เป็นต้น
โซเดียมซิลิเกต ใช้สำหรับให้สีผนึกกับผ้าได้ดี
อ่างสำหรับไว้ต้มเทียนออกจากผ้า

การออกแบบลายผ้า

การออกแบบลายผ้าบาติก เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการทำผ้าบาติก ผ้าจะมีคุณค่ามีความสวยงาม มีราคาสูง ดูแล้วน่าใช้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการออกแบบลายที่มีลักษณะแตกต่างกัน มีเทคนิคในการผลิตซึ่งมี 2 ลักษณะคือ การออกบาติกแบบลายพิมพ์ และการออกแบบบาติกลายเขียน 

1. การออกแบบบาติกลายพิมพ์ คือ ลายที่มีลักษณะเฉพาะที่สามารถนำมาพิมพ์ต่อกันให้มีความต่อเนื่องกันระหว่างลายแต่ละชิ้น ลักษณะการจัดองค์ประกอบของลายพิมพ์นี้ควรให้ตัวลายอยู่ภายในโครงสร้างของรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือสี่เหลี่ยมจตุรัส ที่นิยมใช้กันทั่วไป มี 4 ชนิด คือ
แม่พิมพ์โลหะ เป็นแม่พิมพ์ลายเส้นที่แสดงรายละเอียดชัดเจน การออกแบบสำหรับการพิมพ์โดยทั่วไปมักจะออกเป็นชุดมีแม่พิมพ์ 2-3 อัน คือ แม่พิมพ์ลายเส้น แม่พิมพ์ปิด และแม่พิมพ์เก็บสีพื้นเพื่อย้อมสีที่ 2 ต่อไป

แม่พิมพ์ไม้ เป็นแม่พิมพ์ที่มีลักษณะเป็นแผ่นๆไม่สามารถแสดงเรื่องราว และรายละเอียดลักษณะเป็นลายเส้นโตๆลายที่เกิดขึ้นจะได้สีขาว คือ เกิดจากรอยเทียนจาก แม่พิมพ์ และพื้นเป็นสีย้อม
แม่พิมพ์เชือก เป็นลวดลายที่ไม่มีรายละเอียดเป็นลักษณะลายเส้น เมื่อพิมพ์เทียนแล้วนำไปย้อม แล้วพิมพ์เทียนซ้ำเพื่อเก็บสีเดิมไว้ลักษณะลายจะแสดงให้เห็นลายพื้นของผิวแม่พิมพ์ (TEXTURE) จากรอยแม่พิมพ์เชือก

แม่พิมพ์พลาสติก ทำจากพลาสติกแผ่นบางใสสีเขียวฉลุลายพลาสติกให้สวยงามทำลวดลายบนผ้าเหมือนๆกันได้เป็นชุดหลายผืนอาจเรียกได้ว่า สเตลซิล แผ่นหนึ่งจะลงเทียนได้ 40 - 50 ครั้ง


2. การออกแบบบาติกลายเขียน โดยส่วนใหญ่จะออกแบบลงบนกระดาษก่อนการลอกลายลงบนผ้าด้วยดินสอสีเพื่อนำไปเขียนด้วยจันติ้ง บาติกลายเขียนนี้จะออกแบบลายเพียงครั้งเดียวไม่นิยมทำซ้ำ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะในแต่ละลาย ถ้ามีการทำซ้ำกัน จะทำให้คุณค่าของลวดลายนั้นลดลง การเขียนลายผู้เขียนสามารถเลือกขนาดของจันติ้ง ให้เหมาะกับจุดประสงค์ และต้องการของผู้ออกแบบเอง การออกแบบบาติกลายพิมพ์ และบาติกลายเขียน มี 4 ลักษณะดังนี้
ลายเรขาคณิต การออกลายเส้นรูปทรงเรขาคณิตนี้ ควรควบคู่ไปกับเทคนิคการย้อมสี และรอยแตกของเทียน เหมาะสำหรับงานจิตรกรรมเทคนิคบาติกเพื่อประดับผนัง
ลายดัดแปลงจากลายธรรมชาติ เป็นลวดลายที่มีความนุ่มนวลลักษณะลายที่มีการลื่นไหล
ลายไทย และลายเครือเถา นิยมเขียนบนผ้าไหม
ลายภาพสัตว์ มี 2 ลักษณะ คือ
รูปทรงไม่เหมือนธรรมชาติ เช่น ภาพฉากกั้นห้อง ลักษณะกึ่ง นามธรรม
ภาพสัตว์ที่เป็นเรื่องราว เช่น วรรณกรรม วรรณคดี มักใช้กับงาน จิตรกรรรม

ขั้นตอนในการทำ

การเตรียมผ้า
ควรเลือกผ้าให้เหมาะสม ผ้าที่ใช้ในการทำผ้าบาติก ได้แก่ ผ้าที่ทำจากธรรมชาติ ที่นิยมกัน คือ ฝ้าย ลินิน ปอ และผ้าไหม ผ้าที่นำมาทำนี้จะต้องไม่หนาเกินไป เพราะน้ำเทียนจะไม่สามารถซึมผ่านอีกด้านหนึ่งได้ และก่อนนำไปเขียนเทียนควรนำไปต้มด้วยน้ำด่างโชดาอ่อน เพื่อช่วยขจัดสิ่งสกปรกที่ติดอยู่บนผิวผ้า โดยใช้สารเคมีดังนี้
โซดาแอซ (ผงซักฟอก) 1 กรัม / ลิตร
โซดาไฟ 1 กรัม / ลิตร
สบู่เทียม (Wetting agent) 1 กรัม / ลิตร
จากนั้นจึงนำผ้าที่ผ่านการต้มแล้วไปเขียนเทียน และลงสีต่อไป
การเตรียมเทียนหรือผสมเทียน
เทียนที่ใช้ได้จากการผสมระหว่างขี้ผึ้ง (Wax) และ พาราฟิน(Paraffin) ในอัตราส่วน 1:1 หรือ 1:2 และไม่ควรเกิน 1:12 เพราะจะทำให้เทียนใสเกินไปไม่เกาะติดบนผ้า หรือบางครั้งอาจจะผสมยางสน หรือไขสัตว์ เพื่อช่วยให้เทียนแข็งและเปราะ
การเขียนหรือพิมพ์ลาย
เป็นการปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้สีติด แล้วนำไปลงสีในส่วนที่ต้องการให้ติดสี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการทำผ้าบาติกการเขียนเทียนด้วยชันติ้งจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับงานบาติกลายเขียน จะได้เส้นเทียนที่มีขนาดเล็ก และสามารถเขียนรายละเอียดต่าง ๆ ได้มาก ส่วนการพิมพ์ลายจะเป็นวิธีที่ทำลายเทียนด้วยแม่พิมพ์ ลายที่ได้ค่อนข้างเป็นลายซ้ำ ๆ และมีลวดลายไม่ซับซ้อนมากนัก
การแต้มหรือระบายสี
ใช้สีผงที่เป็นสีสำเร็จรูปสำหรับบาติกโดยเฉพาะ 10 กรัม หรือ 2 1/2 ช้อนกาแฟเล็กกับน้ำต้มสุขประมาณ 8-10 ช้อนโต๊ะ ละลายให้เข้ากันนำไประบายได้ตามต้องการ
การเคลือบน้ำยา (โซเดียมซิลิเกต)
การเคลือบน้ำยาเพื่อเป็นการฟิกซ์ให้สีติดบนผืนผ้าอย่างถาวร โดยใช้ภู่กันทาหรือระบายให้ทั่วทิ้งไว้ 3-6 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย แล้วนำผ้าไปล้างนำยาออก
การลอกเทียนออกจากผ้า
ต้มนำให้เดือดใส่ผงซักฟอก ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ/น้ำ 1 ลิตร นาน 30-40 นาที จะได้ผ้าบาติกที่คุณภาพดีสีไม่ตก

การตกแต่งผ้า เช่น แช่น้ำยากันสีตก ตกแต่งผิวผ้า การรีด การอัด
ขั้นตอนในการตกแต่งนี้ ส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมบาติก เพื่อเป็นการดึงดูดใจลูกค้า ถ้าเป็นการทำผ้าบาติกงานฝีมือหรือในครัวเรือนใช้เพียงวิธีการรีดให้เรียบก็พอ

การทำผ้าบาติกเป็นการตกแต่งผ้าที่มีความเก่าแก่อีกวิธีหนึ่งแต่แหล่งกำเนิดของผ้าบาติกมาจากที่ใดนั้น ยังไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด โดยส่วนใหญ่มีการทำผ้าบาติกในกลุ่มของชาวชวาในประเทศอินโดยนีเซีย ทีมีเอกลักษณ์เฉพาะ และกรรมวิธีที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ผ้าบาติกที่ได้มีความสวยงามมากกว่าประเทศอื่น ๆ เช่น ประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เป็นต้น รวมทั้งทางตอนใต้ของประเทศไทย ในปัจจุบันได้มีการทำผ้าบาติกเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมีการนำผ้าบาติกมาใช้ในวงการการตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งเป็นที่นิยมและต้องการของผู้สวมใส่ในปัจจุบัน 

โดยทั่วไปกรรมวิธีในการทำผ้าบาติกไม่ซับซ้อนมากนัก ซึ่งมีหลักการง่าย ๆ คือการเขียนเทียน แต้มหรือย้อมสี และลอกเทียนออกจากผ้า ทุกขั้นตอนในการทำจะต้องมี ความประณีต ละเอียด พิถีพิถัน จึงจะทำให้ผ้าบาติกดูมีความสวยงาม นอกจากนั้นยังรวมถึงความตั้งใจในการทำงานด้วย ผลงานที่สำเร็จออกมาจึงจะมีคุณภาพดี มีลักษณะเป็นงานด้านหัตถอุตสาหกรรม และเป็นงานด้านศิลปอยู่ในตัวด้วย 

ในการทำผ้าบาติกนั้น นอกจากการออกแบบลวดลายที่มีความสำคัญแล้ว เครื่องมือ และ วัสดุอุปกรณ์ ก็จะต้องเตรียมให้พร้อมหลังจากที่ออกแบบลวดลายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถ้าขาดวัสดุอุปกรณ์ในขั้นตอนใด อาจจะทำให้การทำงานที่ได้ดำเนินไปแล้วต้องหยุดลง เป็นผลทำให้งานชิ้นนั้นเสียหายได้ เมื่อเตรียมเครื่องมือที่ต้องใช้ในการทำผ้าบาติกแล้ว ก็ต้องนำผ้าที่ต้องการทำมาขึงกับกรอบไม้ให้ตึงพอสมควร เพื่อความสะดวกในการเขียนเทียน ระบายสี และนำไปผ่านขั้นตอนในการทำต่อไป 

การหาซื้อผ้าบาติกมาใช้เอง หรือเก็บสะสม ควรสังเกตลวดลาย สีสัน ดอก การวางลาย การวางต่อลายบนผืนผ้า และขอบลายในแต่ละลาย ว่ามีลักษณะเหมาะสมหรือไม่ ผ้าบาติกที่ดีจะต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะ ในแต่ละลายที่อาจจะคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน งานบาติกในสมัยนี้ มีวิวัฒนาการในการทำมากขึ้นมีเทคนิคที่ใช้ในการทำ อีกทั้งขั้นตอนที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นจึงทำให้มีความแตกต่างกันในตัวของลวดลายผ้า เทคนิคในการทำบาติกสมัยใหม่ที่นี้มีความสวยงามไม่น้อยไปกว่าการตกแต่งผ้าวิธีอื่น จึงควรที่จะศึกษาเทคนิคและวีธีการทำต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น